top of page

สันติประชาธรรม: จากวิธีคิด สู่การปฏิบัติ

สู่รางวัลอันทรงเกียรติ

***

 

            คำว่าสันติประชาธรรม อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยของสาธารณชนทั่วไป คำๆนี้เป็นเพียงคำที่มักจะได้ยินจากนักวิชาการ ในสายสังคมศาสตร์ ที่มักจะอ้างอิงถึงคำนี้เมื่ออภิปรายกันถึงการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง  ผู้ที่คิดค้นคำนี้ขึ้นมาเป็นถึงบุคคลสำคัญของโลกในปี2016 (โดยUNESCO องค์การสหประชาชาติ) นั่นคือ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ การทำความเข้าใจคำว่าสันติประชาธรรมไม่ใช่เพียงการถอดความ หรือการแปลคำ แต่ต้องเข้าใจถึงผู้ที่คิดค้นคำนี้ขึ้นมาด้วย ซึ่งวิธีคิด และบริบทของผู้ที่คิดค้นคำนี้ขึ้นมาก็สำคัญไม่แพ้กันที่จะทำให้เข้าใจความหมายของคำนี้ไปอย่างลึกซึ้ง บทความนี้จะอธิบายถึงที่มา ที่ไป ที่ควรจะมีหลักสันติประชาธรรม และหลักสันติประชาธรรมนั้น คืออะไร

 

 

 

เข้าใจคำว่าความรุนแรง ที่มาของการนำเสนอหลักสันติประชาธรรม

                 ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มักหนีไม่พ้นเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความรุนแรง เราอาจสามารถพูดได้ว่าสิ่งที่เป็นความกังวลสูงสุดสิ่งหนึ่งของมนุษย์ที่พยายามหาวิธีแก้ปัญหามาในทุกยุคทุกสมัย คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ความรุนแรง” ซึ่งฟังเผินๆอาจเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อย และออกจะน่าเบื่อ เพราะมนุษย์กับความรุนแรงอาจเป็นของคู่กันได้ ถ้าไม่มีกฎหมาย กฎเกณฑ์ทางศาสนา และหลักการทางด้านมนุษยธรรม แม้ความรุงแรงในปัจจุบันนั้นอาจเปลี่ยนรูปแบบไปจากสมัยก่อน เพราะความรุนแรงถูกจำกัดด้วยอำนาจหลายอย่างที่เรียกว่ากฎเกณฑ์ และระเบียบมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกประชาธิปไตย ความรุนแรงเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากขึ้น แต่เราก็มักจะเห็นความรุนแรงที่ไปปรากฏในภาพยนตร์ และละครแทน แม้มนุษย์พยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่หลายครั้งความรุนแรงกลับไปถูกปลดปล่อยในสื่อเหล่านี้ จนความรุนแรงดูจะเป็นเรื่องที่ธรรมดาสำหรับมนุษย์ไปแล้ว มันวนเวียนอยู่ในหลายมิติของมนุษย์ แต่ในอีกทางหนึ่งความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์สำหรับมนุษย์เช่นกัน คำถามคือ อะไรที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งจนไม่นำมาสู่ความรุนแรงได้?

                 แม้ความรุนแรงในปัจจุบันจะทำได้ยากกว่าสมัยก่อน หากแต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่โลกนี้ยังเต็มไปด้วยผลประโยชน์อันมหาศาล และเมื่อเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งก็มักจะเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะโลกที่ก้าวหน้าในปัจจุบันเรียนรู้จากประวัติศาสตร์มานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือสงครามโลก มนุษย์เรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหาความรุนแรงได้มากขึ้น แต่ผู้ที่ก่อความรุนแรงก็สามารถเรียนรู้วิธีใช้ความรุนแรงด้วยวิธีที่แตกต่างจากเดิมไปได้เช่นกัน จนเป็นประเด็นเรื่อง “ความรุนแรงซ่อนรูป” กล่าวคือ ความรุนแรงอาจไม่ใช่การออกมาฆ่ากันอย่างโฉ่งฉ่าง แต่ความรุนแรงจึงมีรูปแบบต่างๆ มากขึ้นตามความพยามที่จะกำจัดความรุนแรงนั้นๆด้วย การรู้ทันความรุนแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาหลักการบางอย่างมาเพื่อยึดถือ ซึ่งสำหรับ ศ.ดร.ป่วย อึ๊งภากรณ์ ก็คือ “สันติประชาธรรม”

 

 

สันติประชาธรรมคืออะไร และจะใช้แก้ความรุนแรงได้อย่างไร?

                     ตราบใดที่โลกนี้ยังมีผลประโยชน์ให้กอบโกย ความรุนแรงอันเป็นผลผวงจากความขัดแย้งกับสังคมมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ยาก แต่ในโลกที่เป็นประชาธิปไตย เรามีสิทธิ์ที่จะตะโกนบอกว่า “ฉันจะต้องไม่ถูกฆ่า, ฉันไม่ควรถูกรังแก” เพราะอำนาจของประชาชนที่มีมากขึ้น ประชาชนถูกคุ้มครองโดยรัฐ แต่รัฐเองก็ต้องการให้ประชาชนสนับสนุนด้วยเช่นกัน หากแต่เมื่อใดก็ตามที่ประชาธิปไตยถูกใช้ในการอ้างอิงถึงสิทธิ จนผู้มีอำนาจไม่สามารถให้สิ่งที่ประชาชนต้องการได้ เมื่อนั้นคำว่าประชาธิปไตยอาจถูกลดทอนลงไปจากผู้มีอำนาจ หรือแม้กระทั่งถูกผู้มีอำนาจเอาไปตีความ และอ้างอิงในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งก็ถือเป็นการใช้ประชาธิปไตยแบบผิดเพี้ยนจนความหมายที่แท้จริงของคำๆนี้นั้นถูกลดทอนลงไป ความขัดแย้งและความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่มีความสลับซ้อนตามไปด้วย และจำเป็นต้องถูกแก้ปัญหา ซึ่งแน่นอนว่า ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็มองเห็นจุดนี้เช่นกัน

                     ดังนั้นการพูดถึงประชาธิปไตย จึงมีความจำเป็นต่อหลักสันติประชาธรรม เพราะ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังเคยปรารภว่า “คนเราต้องมีความดี ความจริง และความงาม เป็นหลักใหญ่ในการดำเนินชีวิต สังคมในอุดมคติของท่านขอให้มีหลักสี่ประการ คือ (๑) สมรรถภาพ (๒) เสรีภาพ (๓) ความยุติธรรม (๔) ความเมตตากรุณา” และสิ่งที่ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรารถนาคือหลักการที่เรียกว่า ประชาธรรม เพราะเห็นว่า ประชาธิปไตย ใช้กันจนเฝือแล้ว(ถูกผู้มีอำนาจใช้เพื่ออ้างอิงถึงความชอบธรรม) และประชาธรรม นั้นเรียกร้องสองข้อหลัก คือ (๑) สิทธิเสรีภาพแบบธรรมดา ๆ และ (๒) การมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของสังคม[1] ดังนั้นการพูดถึงสันติประชาธรรมโดยละเว้นการพูดเรื่องประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะหลักสันติประชาธรรมเองก็มีที่มาจากประชาธิปไตย หากแต่นำมาประยุกต์ให้เข้ากับสภาวะของสังคมไทยในขณะที่ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังมีชีวิตอยู่มากขึ้น ทั้งหมดที่ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เคยปรารภไว้นั้นจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้ ก็ควรต้องมี “สันติ” ด้วย เพราะประชาชนจะสามารถใช้สิทธิ เสรีภาพ หรือการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมตนได้นั้นก็ควรจะกระทำโดยมีความเป็นสันติด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะนำมาซึ่งความรุนแรงด้วย

 

 

 

 

สันติประชาธรรม กับสังคมไทยในปัจจุบัน?

                 ในยุคสมัยที่ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ดำรงบทบาททางความคิด ในสมัยนั้น เป็นช่วงที่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ถึงขนาดมีการฆ่าแกงกันเป็นเนืองๆ คำถามที่สำคัญคือ สันติประชาธรรมจะใช้ในยุคปัจจุบันได้หรือไม่? โดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักสันติวิธี ได้ให้ทัศนะต่อสำนักข่าว101 ว่า การสร้างความเกลียดชังในยุคปัจจุบันก็มีความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็มีวิธีผลิตความเกลียดชังเพื่อให้เป็นศัตรูกันในแบบของมันเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่มีในสมัยของอาจารย์ป๋วย โจทย์ที่เราต้องทำ คือ สันติประชาธรรมอาจจะต้องปรับเปลี่ยนโดยรักษาวิญญาณไว้ แต่หน้าตา ท่าทาง วิธีการ การทำงานอาจจะเปลี่ยนในยุคของเรา ซึ่ง ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ยังให้ความเห็นต่อไปว่า สันติประชาธรรมไม่ใช่แค่เป็นวิธีการ แต่มันยังพูดถึงสังคมที่เป็นธรรมด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นการเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายกับวิธีการมีส่วนสำคัญมากในความคิดของอาจารย์[2] ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สันติประชาธรรม ยังสามารถนำมาใช้ได้ในยุคปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น เพราะหลักสันติประชาธรรมนั้น ก็ยังมีจิตวิญญาณของมันเองอยู่

 

จากวิธีคิด สู่การปฏิบัติ สู่รางวัลอันทรงเกียรติ

                  กาลเวลาที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า หลักการของ ศ.ดร.ป๋วย อี๊งภากรณ์ เรื่องสันติประชาธรรม ถูกนำมาปฏิบัติ และนำมาประยุกต์ใช้ โดยมีตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ อ.อดิศร พวงชมภู เจ้าของเสื้อแบรนด์ดัง “เสื้อแตงโม” แบรนด์เสื้อที่วัยรุ่นยุค 90 ต้องรู้จัก โรงงานของ อ.อดิศร นั้นมีพนักงานกว่า 1,000 คน ในรอบตั้งแต่ดำเนินกิจการมี มีพนักงานลาออกไปไม่ถึง 10 คน อ.อดิศร ได้กล่าวกับทีมงานรางวัลสันติประชาธรรมว่า “ที่จริงสันติประชาธรรม ผมก็เอาไปใช้กับโรงงาน และผมก็เอามาใช้กับหลักการทำงานของผม”

                   อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือคุณบรรจง นะแส ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในด้านการอนุรักษ์ไทย ที่เรียกได้ว่าเป็น NGOs ท่านแรกๆของประเทศไทย ซึ่งบรรจง นะแส ถือเป็นบุคคลสำคัญในด้านการอนุรักษ์ไทย ซึ่งได้กล่าวกับทีมงานว่า “อาจารย์ป๋วย ถือเป็นคุญูปการ ของชีวิตผมด้วย ชีวิตผมหมกมุ่นกับปัญหาสังคมเชิงโครงสร้าง เชิงการเมือง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า อ.ป๋วย ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ต้องมีกองกำลังติดอาวุธมาซัดกัน อ.ป๋วย จึงก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชทบท ซึ่งก็ทำให้ บรรจง นะแส ได้มุมมองว่าการเปลี่ยนแปลงสังคม มีหลายวิธีการ ไม่ใช่เพียงแต่การใช้ความรุนแรง” บรรจง นะแส ได้ให้ทัศนะต่อที่สำคัญคือว่า “หลักสันติประชาธรรม หากใครไม่ยึดถือในการทำงานจะร้อนลุ่มมาก เพราะบางทีเจอความรุนแรงมา เห็นชาวบ้านโดนฆ่า ก็อยากจะไปฆ่าเขาบ้าง แต่เพราะหลักสันติประชาธรรมที่ยึดถือ มันทำให้ใจมีศรัทธา และแก้ปัญหาไปในแบบสันติ”

                    รางวัลสันติประชาธรรม จึงเป็นรางวัลที่เกิดขึ้นเพื่อสืบสานปณิธาน ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และยังเป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลอันทรงคุณค่าโดยการเปิดกว้าง ไม่จำกัดคุณวุฒิ และวัยวุฒิ หากแต่เป็นผู้ที่ทำงาน อุทิศตนเพื่อสังคม มีความซื่อสัตย์ สุจริต ต่อหน้าที่การงาน และต่อประชาชน ไม่ว่าจะมาจากแวดวงใดก็ตาม ไม่จำกัดสาขาอาชีพ รับรางวัล ให้เป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั่วไป

โดยเปิดรับการเสนอชื่อ จาก

1.ภาคประชาสังคม (NGOs)

2.ภาคราชการ

3.ภาคธุรกิจ,เอกชน,ธุรกิจเพื่อสังคม

องค์กร หน่วยงาน และนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับรางวัล ได้ที่ https://www.psds.tu.ac.th/santiprachatham2562 สอบถาม หรือ โทร 02-564-4440 - 79 ต่อ 1044 อีเมล์ puey.prachatham@gmail.com

 

[1] เรียบเรียงโดย กษิดิศ อนันทนาธร อดีตผู้จัดการโครงการ 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

[2] https://www.the101.world/chaiwat-on-puey/, สำนักข่าว101

bottom of page